วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติกรุงสุโขทัย

ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย

ราชวงศ์สุโขทัยมีประวัติปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกวัดศรีชุม)

ใจความว่า ผู้ตั้งราชวงศ์มี ๒ คน ด้วยกัน คือ พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว

ได้ช่วยกันตั้งราชวงศ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกพ่อขุนศรีนาวนำถม

ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยในครั้งนั้นเมืองสุโขทัยยังเป็นเมืองประเทศราชของขอมอยู่

พ่อขุนผาเมืองนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระราชทานนามว่า กมรเตงอัญศรี

อินทรปตินทราทิตย์ และได้พระราชทานพระราชธิดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า

พระนางสิงขรมหาเทวี พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวนั้น

เป็นเจ้าเมืองบางยาง (แต่เดิมนั้น เรียกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวว่า บางกลางทาว หรือ

บางกลางท่าว ต่อมา ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบอักษรที่จารึกใหม่พบว่า

แท้ที่จริง จารึกเขียนว่า บางกลางหาว เพราะที่อ่านกันแต่เดิมนั้น เข้าใจผิดไปว่าเป็น

"ท ทหาร" ที่แท้คือ " ห หีบ" และ"ไม้เอก" ก็ไม่มี) ครั้งนั้นเมืองสุโขทัยมีข้าหลวง

เขมรชื่อ โขลญลำพง เป็นผู้รักษาเมืองหรือสำเร็จราชการอยู่ พ่อขุนบางกลางหาว

เป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ทั้งสองได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาว

ได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อได้เมืองบางขลังแล้วก็นำพลมาทาง

เมืองราด เมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมไม่อาจสู้ได้ ต้องยอมแพ้

และทิ้งเมืองสุโขทัยไป

เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้ว พ่อขุนผาเมืองได้นำพลออก และได้อภิเษก

พ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ถวายพระนามตามพระนามของตนที่ได้รับ

พระราชทานจากพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า "กมรเดงอัญศรีอินทรปตินทราทิตย์"

(ในตอนต้นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกโดยย่อว่า ศรีอินทราทิตย์

เป็นพระนามพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็น

ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยนั้น ในหนังสือชินกาลมาลินี และสิหิงคนิทาน เรียกว่า

โรจนราช หรือสุรางคราช คือ พระร่วง (สำหรับพระนามพระร่วงนี้มีหลักฐานไม่แน่

ชัดว่า หมายจำเพาะเจาะจงว่าเป็นองค์ใด บ้างก็ว่าหมายถึงพระเจ้าศรีอินทราทิตย์

บ้างก็ว่า หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และบ้างก็ว่าหมายถึงกษัตริย์ทุกพระองค์

ในราชวงศ์พระร่วง)

พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตามความปรากฏในจารึก

หลักที่ ๑ มีใจความว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระโอรสด้วยพระชายาพระนามว่า นางเสือง

๓ องค์ พระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์ พระองค์กลางทรงพระนามว่า

บาลเมือง (ในหนังสือชินกาลมาลินีและสิงคนิทาน เรียกว่า ปาลราช) องค์ที่สามได้

เสวยราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกของพ่อขุน

รามคำแหงด้านที่ 2-3-4 และในคำนำไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า รามราช)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชสมภพปีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน

แน่นอน ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองเหนือ คือ พงศาวดารเมืองโยนก กล่าวว่า

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระสหายสนิทและรุ่นราวคราวเดียวกับ

พญาเม็งรายเจ้าเมืองเชียงใหม่และพญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา ทรงศึกษาเล่าเรียน

อยู่ในสำนักสุกกทันตฤาษี ณ เมือง ละโว้ (ลพบุรี) เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับ

พญางำเมือง ในขณะที่ทรงเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ร่วมกันนั้นพญางำเมืองเจริญ

พระชันษาได้ ๑๖ ปี

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระแล้ว ขุนสามชน

เจ้าเมืองฉอด ได้ยกกองทัพมาตีเมืองตากอันเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของ

กรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปสู้รบกับขุนสามชน และพระราช-

โอรสองค์ที่สามซึ่งเจริญพระชันษาย่างเข้า ๑๙ ปี ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็งในการ

สงครามเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงได้แตกพ่ายไป เมื่อชนช้าง

ชนะขุนสามชนคราวนั้นแล้ว พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาจึงพระราชทานเจ้า

รามเป็น "พระรามคำแหง" ซึ่งคงจะหมายความว่าพระรามผู้เข้มแข็ง หรือ เจ้ารามผู้

เข้มแข็ง

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่สาม

แห่งราชวงศ์พระร่วง ศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึก

สุโขทัยหลักที่ ๑) คือ มหาศักราช ๑๒๐๕ (พ.ศ. ๑๘๒๖) นั้นเป็นปีที่พระองค์ได้

ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น มหาศักราช ๑๒๐๗ (พ.ศ. ๑๘๒๘) ทรงสร้างพระมหาธาตุ

เมืองศรีสัชนาลัย (เข้าใจว่า คือ พระเจดีย์ที่วัดช้างล้อม ในปัจจุบัน) มหาศักราช

๑๒๑๔ (พ.ศ. ๑๘๓๕) โปรดให้สร้างแท่นหิน ชื่อ พระแท่นมนังศิลาบาตร และ

สร้างศาลา ๒ หลัง ชื่อ ศาลาพระมาสและพุทธศาลา ประดิษฐานไว้กลางดงตาล

เพื่อเป็นที่ประทับว่าราชการ และทรงสั่งสอนข้าราชการ และประชาชนใน

วันธรรมดา ส่วนวันอุโบสถโปรดให้พระสงฆ์นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม

รัชสมัยของพระองค์รุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลใด ๆ ราชอาณาเขตแผ่ขยายไปกว้างขวาง

ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อย่างที่เรียกกันว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใส" การพาณิชย์เจริญ

ก้าวหน้า ศิลปวิทยาเจริญรุ่งเรืองหลายประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น